ในขณะแข่งขันมวยไทย นักกีฬามวยไทยต้องใช้สมรรถภาพทางกายหลากหลายองค์ประกอบ การเตรียมการฝึกด้านสมรรถภาพทางกายจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาสมรรถนะนักมวยไทย ซึ่งโดยในการแข่งขันกีฬามวยไทยตามมาตรฐานสากล จะมีการกำหนดรูปแบบการแข่งขันโดยแบ่งออกเป็น 5 ยก แข่งขันยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที อาจจะมีรายการแข่งขันมวยไทยบางรายการที่มีการปรับการแข่งขันเหลือ 3 ยก อย่างไรก็ดี จากลักษณะของกติกาที่กำหนดขึ้น ประกอบกับกีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่เน้นการออกอาวุธที่รุนแรง และรวดเร็ว ต้องใช้ความแข็งแรงในการออกอาวุธรวมถึงความอดทนในการยืนระยะตลอดการแข่งขัน ทำให้กีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่ต้องใช้สมรรถนะทางกายในระดับที่สูงมาก นักมวยไทยต้องมีการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมสภาพร่างกายที่ให้พร้อมและสมบูรณ์อย่างเต็มที่ในการที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในแต่ละไฟท์ เพื่อให้ได้แสดงความสามารถได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลให้ได้รับการบาดเจ็บจากการแข่งขันให้น้อยที่สุดได้
สมรรถภาพทางกาย เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้นักกีฬาสามารถแสดงทักษะได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในกีฬามวยไทยเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความต้องการของทักษะ เทคนิค เทคติก และระดับความหนักที่สูง นักกีฬามวยไทยที่มีประสบการณ์การฝึกซ้อม การแข่งขัน จะมีเคลื่อนไหว ปฏิบัติทักษะได้อย่างรวดเร็ว และความหนักออกแรงที่มากกว่า ทำให้มีความได้เปรียบต่อคู่ต่อสู้ ซึ่งการที่นักกีฬามีสมรรถภาพทางกายที่ดี จะสามารถควบคุมการปฏิบัติเทคนิค ทักษะ และเทคติก อย่างเต็มความสามารถสูงสุดในการแข่งขัน ดังนั้นสมรรถภาพทางกายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จสำหรับนักกีฬามวยไทยในทั้งระดับสมัครเล่น และระดับอาชีพ นักกีฬามวยไทยจำเป็นที่จะต้องใช้สมรรถภาพทางกายแต่ละด้านในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป โดยความสำคัญของสมรรถภาพทางกายในนักมวยไทย สรุปได้ดังนี้

- พลังกล้ามเนื้อ (Muscle Power) พลังกล้ามเนื้อเป็นความสามารถของกล้ามเนื้อที่จะหดตัวแรงและเร็วในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งในการแข่งขันกีฬามวยไทยนักกีฬาจะต้องออกอาวุธโดยการเตะในทักษะท่าต่าง ๆ ด้วยแรงสูงสุดอย่างรวดเร็ว มีช่วงของการกระตุ้นให้มีการเพิ่มขึ้นของพลัง และใช้พลังที่ยังมีอยู่เข้ากระตุ้นออกแรงซ้ำอีก ยกตัวอย่างเช่น การเตะซ้ำ 2 ครั้ง ดังนั้น นักกีฬามวยไทยจึงต้องมีพลังกล้ามเนื้ออยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะ กล้ามเนื้อบริเวณแขน ต้นขา สะโพก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อหลักที่ต้องออกแรง
- ปฏิกิริยาตอบสนอง (Reaction Time) เป็นความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลังจากที่ได้รับการกระตุ้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นความสามารถของระบบประสาทเมื่อรับรู้การถูกกระตุ้นแล้วสามารถสั่งการให้อวัยวะที่ทำหนาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวให้มีตอบสนองอย่างรวดเร็วได้ นักกีฬามวยไทยจำเป็นที่จะต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีมาก เนื่องจากในกีฬามวยไทยจะต้องมีความเร็วการโจมตีและการหลบหลีกจากคู่ต่อสู้ได้ตลอดเวลา

-
องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) เป็นดัชนีประมาณค่าที่ทำให้ทราบถึงเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักที่เป็นส่วนของไขมันที่มีอยู่ในร่างกาย ในกีฬามวยไทยมีการกำหนดรุ่นน้ำหนักในการแข่งขัน อีกทั้งการมีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายมากเกินความจำเป็นนอกจากจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มแล้ว ยังลดความเร็วในการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของนักกีฬาอีกด้วย
- ความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscle Strength and Endurance) นักมวยไทยจำเป็นที่จะต้องมีสมรรถภาพทางกายที่ดีในด้านความแข็งแรงของสภาพร่างกายโดยเฉพาะในส่วนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว เพื่อใช้แสดงทักษะในการโจมตีหรือป้องกันการโจมตีจากคู่ต่อสู้ ที่ต้องชัดเจน แม่นยำ หนักแน่นในการออกอาวุธ สมรรถภาพดังกล่าวนี้ จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยป้องการการบาดเจ็บซึ่งเกิดจากแรงปะทะได้ อีกทั้งมีสัดส่วนของการใช้พลังงานแบบแอนแอโรบิคสูงมากในการแข่งขัน ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายเมื่อยล้าได้ง่าย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความอดทนของกล้ามเนื้อเพราะจะช่วยให้ทนต่อความเมื่อยล้าอันเนื่องมาจากสะสมของกรดแลคติกและการลดลงของไกลโคเจนได้ ดังนั้น องค์ประกอบด้านความแข็งแรงและความอดทนของกล้ามเนื้อจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของนักกีฬามวยไทย
- ความอ่อนตัว (Flexibility) เป็นความสามารถของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกายที่เคลื่อนไหวได้เต็มช่วงของการเคลื่อนไหว ซึ่งมุมการเคลื่อนไหว เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้นักกีฬามวยไทยแสดงทักษะและกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในกีฬามวยไทยใช้ทักษะการเตะและการถีบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอ่อนตัวในระดับสูงของข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเตะสูง เพื่อให้เคลื่อนไหวได้เต็มช่วงการเคลื่อนไหว ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
- ความอดทนของระบบหัวใจและหายใจ (Cardiorespiratory Endurance) เป็นความสามารถของหัวใจและปอดที่จะลำเลียงออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อที่ใช้ในการออกแรง ดังนั้นหากร่างกายมีระบบขนส่งที่ดีแล้ว ก็ย่อมที่สามารถทำงาน หรือทำกิจกรรมต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็เพราะว่าการลำเลียงและขนส่งสารอาหาร และออกซิเจนไปให้เซลล์กล้ามเนื้อ มีจำนวนมากเพียงพอกับความต้องการนั้นเอง อีกทั้งการการลำเลียงของเสียเพื่อนำไปกำจัดโดยกระบวนการต่างๆ ก็เป็นไปได้ด้วยดีอีกด้วย ซึ่งจะทำให้การตกค้างของของเสียที่สะสมอยู่ลดลง ร่างกายจึงไม่เกิดการเมื่อยล้า ส่งผลให้ร่างกายสามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ในกีฬามวยไทยนักกีฬาจำเป็นต้องมีการฟื้นตัวที่รวดเร็วเพื่อทำการแข่งขันในยกต่อไป ดังนั้น หากนักกีฬามีความอดทนของระบบหัวใจและหายใจอยู่ในระดับที่ดีก็จะมีความสามารถในการฟื้นตัวดีตามไปด้วย
- การประสานสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหว (co-ordination) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของระบบประสาทและระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งในการปฏิบัติทักษะของกีฬามวยไทยต้องอาศัย ทั้ง ตา มองคู่ต่อสู้ มือและเท้า เตรียมโจมจีและที่จะต้องทำงานสอดคล้องกันจะทำให้นักกีฬา ปฏิบัติกิจกรรมทางกลไกที่สลับซับซ้อนในเวลาเดียวกันอย่างราบรื่นและแม่นยำ
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ขณะการแข่งขันมวยไทยนั้น นักกีฬาจำเป็นที่ต้องมีสมรรถภาพทางกายด้านความแข็งแรง ความเร็ว ความอดทน ความยืดหยุ่น ความอ่อนตัว และการประสานงานระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นพื้นฐานสำคัญ (Turner, 2009) ซึ่งการที่นักกีฬามีสมรรถภาพทางกายที่ดี จะสามารถควบคุมการปฏิบัติเทคนิค ทักษะ และเทคติก อย่างเต็มความสามารถสูงสุดในการแข่งขัน ซึ่งนักกีฬามวยไทยที่มีเทคนิคและทักษะ รวมถึงสมรรถภาพทางกายที่ดี ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการแข่งขันได้ ดังนั้นสมรรถภาพทางกายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จสำหรับนักกีฬามวยไทยในทั้งระดับสมัครเล่นและระดับอาชีพ (Bhumipol et.al 2023 และ Davis., 2013)